ประสบการณ์กับ elementary OS Luna

ช่วงหลังๆ มานี่ผมพยายามหาลีนุกซ์มาใช้งานกับคอมพิวเตอร์ของผมอยู่  เพราะว่าผมชักจะเบื่อกับการเขียนเว็บบนวินโดวส์  ที่มักจะมีปัญหาจุกจิกเวลาเอาขึ้นโฮสต์ลีนุกซ์  ผมเลยจัดการหาลีนุกซ์มาใช้เลย (จะซื้อแมคบุคเครื่องมันก็สเป็คต่ำไป เล่นเกมไม่สะใจ แหะๆ)

หลักๆ แล้วผมจะมองไปที่สาย Debian เสียมากกว่า (ถนัดกว่า) แต่ว่าแต่ละตัวก็จะติดเรื่องที่ไม่ชอบเล็กๆ น้อยๆ อยู่ร่ำไป  อย่างเช่น Ubuntu ที่ผมไม่ชอบ Unity หรือ Linux Mint ที่ผมไม่ชอบหน้าตามันเท่าไหร่

ผมค้นๆ คุ้ยๆ ไปมาก็ไปเจอกับ elementary OS เข้าให้  จะให้พูดง่ายๆ มันก็คือ Linux ที่ทำหน้าตาให้เหมือน OSX นั่นแหละ  โดยในตอนแรกที่ผมเจอนั้น  มันยังเป็น Beta 1 อยู่  และเมื่อไม่นานมานี้มันก็ออกรุ่น Stable เรียบร้อย  เลยไม่รอช้าที่จะลองเอามาติดตั้งใช้งานกัน

รู้จักกับ elementary OS

elementary OS เป็น Distro เล็กๆ ที่เริ่มขึ้นโดยกลุ่มเด็ก ม.ปลาย และเด็ก มหาลัย กลุ่มหนึ่ง  ที่ต้องการจะทำลีนุกซ์ที่มี Design สวยงาม  และเน้นใช้โปรแกรมจาก 1st-party เอง  เพื่อให้ OS เป็นทางหนึ่งทางเดียวกัน (ซึ่งปกติแล้วดิสโทรต่างๆ มักจะแพ็ครวมโปรแกรมที่มีอยู่แล้วมาให้เสียมากกว่า)  ซึ่งในเวอร์ชันแรก (Jupiter) นั้นเป็นเพียงแค่การเอา Ubuntu มาใส่ธีมใหม่  และเขียนโปรแกรมใส่เพิ่มเข้าไปเองเท่านั้น

ต่อมาทีมงานก็ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่า  นั่นคือ GTK3 และภาษา Vala จาก GNOME พร้อมกับพัฒนา Environment ขึ้นเองในชื่อว่า Pantheon และปล่อยออกมาให้ใช้กันในเวอร์ชัน 0.2 Luna นี้เองครับ

ใน eOS ยังมีส่วนขยายของ GTK+ สำหรับอำนวยความสะดวกต่างๆ อยู่อีกครับ  นั่นคือ Granite Framework ที่เป็น UI Widget ต่างๆ ให้ Developer หยิบเอาไปใช้ได้ทันที  และ Contractor ที่ช่วยให้โปรแกรมสามารถเรียกใช้ “ฟังก์ชัน” ในโปรแกรมอื่นที่ register ไว้กับ Contractor ได้ด้วย  ทำให้ Developer ไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนโค๊ดฟังก์ชันนั้นๆ ลงไปในโปรแกรมของตัวเองครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ eOS เสนอแนวคิดที่ผ่าเหล่าผ่ากอไปจากคนอื่น  คือการปรับให้การคลิกเปิดไฟล์หรือโฟลเดอร์ต่างๆ เป็น Single Click แทนที่จะเป็น Double Click แบบคนอื่นเขา  และยังรวมปุ่ม Minimize และ Close เข้าเป็นปุ่มเดียวกันอีกด้วย  โดยโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาตามไกด์ไลน์ของ eOS นั้น  จะมีการ save state ก่อนแล้วจึงปิดโปรแกรมลงไป  เมื่อเปิดโปรแกรมกลับขึ้นมาก็จะโหลด  state เดิมขึ้นมาทำงานต่อ (แนวคิดแบบ multi-tasking บน iOS นั่นแหละ) หรือบางโปรแกรมเช่นอีเมลหรือเครื่องเล่นเพลง ก็จะมีการทำงานต่อใน background ต่อไป  เพื่อให้ยังเล่นเพลงหรือรับเมลได้ปกติ (ไม่ต้องตกใจไปกลับ  ทั้งหมดนี้เราสามารถแก้ให้กลับมาเป็นเหมือนปกติได้)

อ้อ eOS พัฒนาระบบ Windows Manager ขึ้นมาเองในชื่อว่า Gala ครับ (พัฒนาต่อจาก Mutter ของ GNOME3 อีกที)

ส่วนประกอบหลักของ elementary OS

eOS มี Desktop Environment ของตัวเองที่ชื่อว่า Pantheon ซึ่งเมื่อเราเข้ามาสู่เดสก์ท็อป  จะพบกับ Pantheon ที่หน้าตาคล้าย OSX ดังนี้


ข้อเสียอย่างนึงของ Desktop ใน Pantheon คือมันไม่สามารถเซฟไฟล์หรือวางไอคอนอะไรลงบน Desktop ได้เลยครับ  หลายคนอาจจะไม่ถูกใจตรงนี้สักเท่าไหร่นัก (เวลาทำงานผมชอบเซฟไฟล์ไว้ที่ desktop นะ)  ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับการปรับปรุงในเวอร์ชั่นต่อไป

ในหน้าจอ Desktop จะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน  นั่นคือ

Wing Panel

เป็นแถบเมนูด้านบน  มีตัวเปิด Slingshot, นาฬิกา, และ System Tray เหมือนกับใน GNOME เดิม

Slingshot

คล้ายๆ กับ Start Menu บนวินโดวส์  มันจะรวมโปรแกรมต่างๆ ที่เราติดตั้งลงไป  สามารถพิมพ์ค้นหาโปรแกรมได้ (แต่ผมเจอบั๊กเล็กๆ น้อยๆ คือบางทีเวลาพิมพ์แล้วมันจะค้าง)  ซึ่งเราสามารถเรียก Slingshot ขึ้นมาได้โดยการกด win+space

เรื่องน่ารำคาญอย่างหนึ่งของมันคือเมื่อเรากดเปิด Slingshot มาแล้ว  ถ้าเราคลิกนอก Slingshot มันจะไม่ปิด Slingshot ครับ (ปกติถ้าเรากด Start แล้วไปคลิกนอก start menu ในวินโดวส์  มันจะปิด Start menu เอง)

Plank

มันคือ Dock นั่นแหละ  เป็น Launcher และ Taskbar เหมือนอย่างใน OSX เป๊ะ  สามารถปักหมุดโปรแกรมที่เราใช้บ่อยลงไปได้ (Plank มันพัฒนาโดยใช้ Docky เป็นฐานครับ)

โปรแกรมที่มากับ elementary OS

เนื่องจาก eOS นั้นเน้นให้โปรแกรมแต่ละตัวนั้นมีลักษณะร่วมกันเพื่อให้ประสบการณ์การใช้งานกับผู้ใช้ที่ดีที่สุด  ทำให้โปรแกรมหลายๆ ตัวถูกเขียนขึ้นใหม่สำหรับ eOS โดยเฉพาะ  ซึ่งโปรแกรมของ eOS หลายตัวจะพัฒนาด้วยภาษา Vala ของ GNOME3 ครับ

โปรแกรมจัดการไฟล์ Pantheon Files

Pantheon Files (เรียกสั้นๆ ว่า Files) เป็นโปรแกรมจัดการไฟล์สำหรับเดสก์ท็อป Pantheon (เหมือนอย่าง Windows Explorer หรือ Finder) หน้าตาของมันจะคล้ายๆ กับ Finder ใน OSX ที่มี Address bar เป็น Breadcrumb แบบใน Windows 7 และรองรับการเปิดหลายแท็บ

Files ไม่มีฟีเจอร์อะไรหวือหวาครับ (เรื่องฟีเจอร์ผมชอบ Nemo ของ Mint มากกว่า  อย่างน้อยๆ มันก็ยังสั่ง Open as root ได้) มันสามารถปรับมุมมองได้ 3 แบบ  คือแบบ Grid อย่างรูปข้างบน  หรือแบบ List ที่สามารถกดดู Tree ไปได้เรื่อยๆ  หรือแบบ Column

โปรแกรมฟังเพลง Music

eOS พัฒนาโปรแกรมสำหรับฟังเพลงขึ้นมาในชื่อว่า Noise และเปลี่ยนชื่อมันเป็น Music ในภายหลัง แน่นอนว่ามันเป็นโปรแกรมฟังเพลงที่มีฟีเจอร์ไม่มากอีกเหมือนกันครับ  หน้าตาของมันก็จะคล้ายๆ กับ Files ครับ

Music มีฟีเจอร์พื้นฐานสำหรับการฟังเพลงที่ค่อนข้างครบ  สามารถเลือกดูเพลงตามอัลบั้ม, นักร้อง, หรือแนวเพลงได้  สามารถสร้าง Playlist ได้  และสามารถปรับ Equalizer ได้ด้วยเช่นกัน

โปรแกรมรับส่งอีเมล Geary

eOS เลือกใช้ Geary เป็นโปรแกรมรับส่งอีเมลหลักแทนที่จะใช้ Thunderbird เหมือนอย่างดิสโทรอื่นๆ ครับ

Geary เป็นโปรแกรมรับส่งอีเมลที่พัฒนาขึ้นมาด้วยภาษา Vala เช่นเดียวกันกับโปรแกรมหลักอื่นๆ ของ eOS และตัวมันเองก็มีฟรเจอร์พื้นฐานที่ค่อนข้างครบ  เช่นรองรับหลายอีเมล, รองรับการทำงานกับ IMAP, รองรับการทำงานร่วมกับ Gmail และ Yahoo! Mail, และที่สำคัญคือเบา  ทำงานได้รวดเร็ว  และใช้งานง่าย  มันเลยถูกเลือกเข้ามาใน eOS ครับ

โปรแกรมปฏิทิน Maya

Maya เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับ eOS โดยเฉพาะ  ตัวมันนั้นเป็นโปรแกรมปฏิทินธรรมดาๆ ทั่วไปนี่แหละครับ  สามารถสร้างและแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่างๆ ได้  และสามารถสร้างปฏิทินได้หลายอัน (เช่นบางคนที่จะแยกปฏิทินวันเกิด ปฏิทินนวันหยุด ปฏิทินนัดส่วนตัว และปฏิทินงานออกจากกัน)

ข้อเสียเดียวที่ผมเจอคือมันซิงค์กับ Google Calendar ไม่ได้  อันที่จริงมันซิงค์กับอะไรไม่ได้เลย

เว็บเบราเซอร์ Midori

Midori เป็นเว็บเบราเซอร์ WebKit ฟีเจอร์พื้นฐานครบครัน  สามารถเขียน Extension ให้มันได้ด้วยภาษา C และ Vala

ผมจำได้ว่า Midori นี่มันเป็นเบราเซอร์ของ Xfce แต่ไหงมันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ elementary ได้ก็ไม่รู้ (launchpad ของ Midori บอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของ elementary)

ประสบการณ์การใช้งาน

elementary OS ทำสำเร็จในเรื่องการทำให้มันใช้งาน “ง่าย” ครับ  โปรแกรมทุกตัวใน eOS ถูกพัฒนาหรือเลือกโปรแกรมที่ใช้งานง่ายเข้ามา  แม้ว่าบางโปรแกรมจะฟีเจอร์น้อยไปหน่อยก็ตามที  (อย่างอี Shotwell ที่ฟีเจอร์ง่อยมาก  ผมต้องไปหา XnView มาลงแทน)

แนวคิดอะไรหลายๆ อย่างใน eOS นั้นอาจจะถือว่าแปลก เมื่อเทียบกับการใช้งานคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ แต่อาจจะรู้สึกคุ้นๆ จากการใช้งานโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต  เช่นการปิดหน้าโปรแกรม  ที่จะ freeze state เอาไว้  และให้เมื่อเปิดกลับมาทีหลังก็จะทำงานต่อจาก state เดิมเหมือนอย่างบนโทรศัพท์  หรืออย่างการปรับให้การเปิดไฟล์นั้นทำได้ด้วย Single click แทนที่จะเป็น Double click แบบเดิมๆ ที่ทางผู้พัฒนาก็บอกว่านำแนวคิดมาจากการ browse ไฟล์ในโทรศัพท์เช่นกัน

ในเรื่องของการติดตั้งโปรแกรม eOS ก็มี Software Center ด้วยเช่นกัน  โดยมันจะใช้ repositories หลักๆ เป็นของ Ubuntu 12.04 และเพิ่ม repositories ของตัวเองเข้ามาอีกบางส่วนครับ  นั่นหมายความว่ามันก็สามารถใช้โปรแกรมร่วมกับ Ubuntu ได้ไม่มีปัญหาอะไร (โดยเฉพาะโปรแกรมของ Ubuntu 12.04) แต่อย่างไรก็ตาม  ก็เริ่มมีโปรแกรมจาก 3rd-party บางโปรแกรมที่ออกแบบและพัฒนามาเพื่อ eOS บ้างแล้วครับ  เช่นโปรแกรมทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า Birdie

อีกข้อนึงที่ผมรู้สึกว่า eOS ยังทำได้ไม่ดีนั่นคือเรื่องของการเก็บบั๊กและความเสถียรของซอฟต์แวร์  ซึ่งทีมพัฒนาเขาแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาโปรแกรม Ceerbere ขึ้นมาเพื่อคอย monitor โพรเซสต่างๆ ที่ register เอาไว้  และคอยเปิดมันกลับขึ้นมาใหม่เมื่อกับดับไปครับ (เออ เล่นงี้เลยเนอะ) ทำให้เวลาเจอปัญหาโพรเซสดับจะไม่รู้สึกติดขัดอะไรมากนัก  รอสักพักนึงเดี๋ยวมันก็กลับมา

ปัญหาที่เจอระหว่างติดตั้งและใช้งาน

น่าจะเป็นเรื่องปกติที่ OS ชนกลุ่มน้อยอย่างลีนุกซ์จะเจอปัญหาอยู่บ่อยๆ  โดยเฉพาะเมื่อลงคู่กับ Windows 8 ซึ่งการติดตั้งครั้งนี้ผมเจอปัญหายิบย่อยค่อนข้างเยอะ (แต่ละคนน่าจะเจอไม่เหมือนกันนะ  ผมมีสองเครื่องยังเจอเครื่องนึงไม่เจอเครื่องนึงเลย)  ก็เอามาบอกกล่าวไว้เผื่อใครที่เจอปัญหาเดียวกัน  จะเสนอวิธีแก้  หรือมองหาวิธีแก้  จะได้แชร์กันได้

ในส่วนนี้ผมขอ accordion ไว้แล้วกันครับ  เพราะถือว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ใช้ทุกคนจะเจอ ^^

[accordion]

[spoiler title=”ปัญหาแรก: บู๊ตไม่ได้”]

ปัญหาแรกที่ผมเจอเลยนั่นก็คือผมไม่สามารถบูท elementary OS ขึ้นมาได้ครับ  โดยมันจะบู๊ตตรงเข้าไปยัง Windows 8 เลย  โดยในตอนติดตั้งนั้นผมเลือกติดตั้ง bootloader เอาไว้ที่พาร์ทิชัน / (/dev/sda4) ดังนั้นเมื่อเข้า Windows มาได้  ก็จัดการใช้ EasyBCD เพิ่ม Boot Menu ให้กับ Boor Manager ของ Windows 8 ทันที  โดยชี้ให้บู๊ตไปยังพาร์ทิชัน /dev/sda4 แบบตอนที่ผมลง Windows 8 คู่กับ Linux Mint บนเครื่องเก่านั่นแหละ

แต่ปัญหายังไม่จบแค่นั้น  เมื่อผม restart เครื่อง  และกดเลือกบูตเข้า elementary OS ผมกลับมาค้างอยู่ที่พร้อมพ์ของ GRUB4DOS  ทางแก้คือผมจะต้องสั่งให้ GRUB โหลดเคอร์เนลขึ้นมาเอง  เพื่อให้มันสามารถบู๊ตเข้าลีนุกซ์ได้  ผ่านคำสั่งดังต่อไปนี้

GRUB> root (hd0,3)
GRUB> kernel /vmlinuz root=/dev/sda4
GRUB> initrd /initrd.img
GRUB> boot

แล้วผมก็สามารถบู๊ตเข้า elementary OS เข้ามาได้สำเร็จ

เรื่องน่ารำคาญคือผมต้องพิมพ์คำสั่งเหล่านี้ทุกครั้งเมื่อต้องการจะเข้า eOS อย่างนั้นหรือ?  ผมแก้ปัญหาด้วยการใช้ EasyBCD ติดตั้ง NeoGRUB และแก้ไฟล์ menu.lst ให้เป็นคำสั่งอย่างข้างต้น  เพื่อให้มันบู๊ตเข้า eOS ได้อัตโนมัตินั่นเอง (จริงๆ ตอนหลังผมยังเพิ่มเมนูสำหรัับเลือกรุ่นเคอร์เนลและโหมด recovery ด้วย  เดี๋ยวจะพูดถึงอีกที)

[/spoiler]

[spoiler title=”ปัญหาที่สอง: ดับทั้ง Wireless และ LAN”]

อันนี้คงจะเป็นความซวยของผมเองครับ  เพราะทั้ง Wireless และ LAN บนโน๊ตบุคของผม  ดันไม่รองรับบนลีนุกซ์ (ไวเลส Ralink RT3290 และแลน Atheros RT8171/8175) ผมแก้ปัญหาด้วยการดาวน์โหลดไดรเวอร์มาคอมไพล์เอง  ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้  ล่าสุดลองอัพเกรดเคอร์เนล  ก็ยังใช้งานไม่ได้อยู่เช่นเดิม  ระหว่างนี้ผมเลยต้องใช้มือถือจัดการ USB Tethering เข้ามาเพื่อใช้เน็ตไปพลางๆ

[/spoiler]

[spoiler title=”ปํญหาที่สาม: NVIDIA Optimus”]

ผมว่าควรแล้วที่ตา Linus Torvalds จะแจก Fuck You ให้กับ NVIDIA เพราะเทคโนโลยีการ์ดสลับการ์ดจออย่าง Optimus นั้นก่อให้เกิดปัญหาบนลีนุกซ์เป็นอย่างมาก  ในกรณีที่ผมเจอคือจะไม่สามารถ activate ไดรเวอร์ proprietary ได้เลย (activate ปุ๊บ ลีนุกซ์ล่มไปทั้งแถบ  ต้องเข้า recovery)

วิธีแก้คือผมต้องติดตั้งแพคเพจ Bumblebee เพื่อให้ Optimus สามารถทำงานได้บนลีนุกซ์  จากนั้นจึงค่อย activate ไดรเวอร์ proprietary นั่นเองครับ

[/spoiler]

[spoiler title=”ปัญหาที่สี่: เมาส์กระพริบ และ Greeter ตั้ง Resolution ผิด”]

อันนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เล็กน้อยแต่น่ารำคาญมากๆ นั่นคือเวลาใช้งานไปสักพัก  เมาส์พอยเตอร์จะกระพริบ  หรือหายไป  ต้องขยับเมาส์มันถึงจะกลับมา  ผมเห็นในคอมมิวนิตี้บอกว่ามันเป็นฟีเจอร์ของแพคเพจที่ชื่อว่า Unclutter แต่ผมพบว่าผมไม่ได้ติดตั้งแพ็คเกจนี้เอาไว้

อีกเรื่องนึงคือ eOS จะตั้งความละเอียดหน้าจอเอาไว้ที่ 1368*768 โดยอัตโนมัติ (เครื่องเก่าไม่เป็น) ซึ่งจริงๆ จอผมมัน 1366*768 และผมยังหาทางเปลี่ยน resolution ในหน้า Greeter ไม่เจอ จอเลยเด้งซ้ายเด้งขวาให้น่ารำคาญเล็กน้อย

[/spoiler]

[/accordion]

อนาคตของ elementary OS

ในรุ่นถัดไปของ eOS (โค๊ดเนม Isis) จะมีการปรับปรุงและเพิ่มโปรแกรมจาก eOS เข้ามาอีกหลายตัวครับ  เช่น Snap ที่เป็นโปรแกรมแนวๆ Photo Booth, โปรแกรมสมุดที่อยู่ Friend, การยกเครื่อง Software Center ใหม่, รวมถึง Captive Portal Assistant ที่จะเด้งเตือนเมื่อเราเชื่อมต่อ Wifi ที่ต้องล็อกอิน (อย่างเช่น Dtac Wifi)

อีกเรื่องที่อาจจะมีในเวอร์ชันถัดไปของ eOS นั่นคือ Universal Accounts Dialog ที่เป็นตัวเก็บโปรไฟล์บริการออนไลน์ต่างๆ (เช่นเฟซบุคและทวิตเตอร์) และให้แอพต่างๆ สามารถดึงไปใช้งานได้ทันที

นอกจากนี้ eOS ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้มันสามารถ detect ฮาร์ดแวร์ต่างๆ และหาไดรเวอร์ต่างๆ ที่เหมาะสมมาลงให้อัตโนมัติ (ซึ่งเค้าว่ามันจะช่วยลดปัญหากับการ์ดจอ NVIDIA ที่โดนตาไลนัสแจก fuck you ไปนั่นเองครับ)

สำหรับ Developer ทาง eOS ก็พัฒนา IDE สำหรับเขียนโปรแกรมบน eOS ขึ้นมาด้วยเช่นกันในชื่อว่า Euclide และยังเตรียม Design Guideline เอาไว้สำหรับการออกแบบโปรแกรมบน eOS ด้วย (ซึ่งมันก็อิงจาก GNOME3 อีกที) และมี Coding Document ให้อ่านด้วยครับ (แต่ว่าน้ำตาจะไหลเปิดไปแทบไม่มีไรเลย) ซึ่งโดยรวมมันก็คือการพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษา Vala ตาม Design guideline นั่นแหละ  ใครสนใจก็สามารถลองเข้าไปอ่านกันได้ครับ

Posted by jirayu

WordPress Developer ที่พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง วันไหนไม่ทำงานอยู่บ้านว่างๆ ก็นั่งเลี้ยงแมว

11 Replies to “ประสบการณ์กับ elementary OS Luna”

  1. มันสามารถรันโปรแกรมแบบไฟล์ dmg เหมือน osx ได้ไหมคับ

    Reply

  2. บูทไม่ได้คือยังไงครับ grub ไม่ทำงานหรือยังไง ผมจะได้เปลี่ยนใจทันครับ

    Reply

  3. update คลิกนอก slingshot มันปิดให้แล้วนะครับ

    Reply

  4. update คลิกนอก slingshot มันปิดให้แล้วนะครับ

    Reply

  5. บูทไม่ได้คือยังไงครับ grub ไม่ทำงานหรือยังไง ผมจะได้เปลี่ยนใจทันครับ

    Reply

  6. ลองดู Pear OS สิครับ น่าจะนิ่งกว่า eOS ส่วนผมตอนนี้ใช้ Mint โดยเอา font window มาใส่แทน
    ดูดีครับ

    Reply

  7. กำลังจะลองเล่นดูครับ ปล้ำเจ้า arch linux มาหลายวันแล้วยังบูตไม่ขึ้นสักที ท่านใดมีคำแนะนำบ้างไหมครับ

    Reply

  8. Thanks หลาย เด๊ จ้า

    Reply

  9. Thanks หลาย เด๊ จ้า

    Reply

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *