ลองใช้ oBike ในสิงคโปร์ แอพเช่าจักรยานไร้สถานีจอด

ช่วงสัปดาห์นี้ผมมาที่สิงคโปร์  ซึ่งที่สิงคโปร์นี้เป็นประเทศที่คนปั่นจักรยานกันเยอะมาก (รวมไปถึงการใช้สกู๊ตเตอร์ สเกตบอร์ด และโรลเลอร์เบลดด้วย) ทำให้บริการเช่าจักรยานผ่านแอพนั่นเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

ในสิงคโปร์จะมีบริการเช่าจักรยานหลักๆ อยู่ 3 เจ้า  คือ oBike ของคนสิงคโปร์เอง  และ Mobike กับ Ofo ที่มาจากประเทศจีน (คิดว่าน่าจะมีเจ้าอื่นอีก  อย่างน้อยๆ คือเห็น Gbikes ใน Play Store แต่ยังไม่เห็นตัวรถจริงๆ เลย) ตอนแรกผมพยายามลองทั้งสามตัว  แต่เนื่องด้วยต้องจ่ายมัดจำ (รีฟันด์ได้) เลยลองแค่ตัวเดียวดีกว่า  ซึ่งแต่ละตัวที่ลองพอจะบอกได้ดังนี้

Mobike

เท่าที่ทราบจะคิดราคาทุกครึ่งชั่วโมง  ในราคา S$1 ต่อ 30 นาที (เห็นว่าถ้าใช้ไม่ถึง 30 นาที  จะไม่เสียเงิน  แต่ยังไม่ได้ลอง  ไม่ยืนยัน) มีเสียค่ามัดจำรถ S$49 สามารถขอรีฟันด์ได้ทีหลัง  แต่พบว่าไม่สามารถหักเงินจากบัตรเดบิต ธ.กสิกร ได้ (กสิกรอีกแล้ว ว้อยยยย) เลยไม่ได้ใช้

แอพ Mobike รองรับการล็อกอินด้วยเบอร์โทรศัพท์ (ไม่แน่ใจเปลี่ยนเบอร์ทีหลังได้หรือไม่  หาที่เปลี่ยนไม่เจอ) รองรับล็อกอินด้วยบริการจีนคือ WeChat และ QQ ได้ (ไม่รับ Facebook)

Ofo

บริการจากจีนอีกตัวหนึ่ง  ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดคือเมื่อก่อน Ofo จะคิดราคา S$0.5 ต่อการใช้งานหนึ่งครั้ง (ไม่จำกัดเวลา) แถมไม่ต้องจ่ายมัดจำด้วย  แต่ไปๆ มาๆ เปลี่ยนเป็นจ่ายมัดจำ S$39 แล้วคิดค่าบริการ S$1 ต่อชั่วโมง  และคิดราคาสูงสุด $2 ต่อการใช้งานหนึ่งครั้ง (ถ้าเอาไปปั่นทั้งวันโดยไม่ล็อครถเลย  ก็จะเสียแค่ S$2)

Ofo จะรองรับการล็อกอินด้วยเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น  ไม่รองรับการล็อกอินด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์กใดๆ ทั้งสิ้น  และเช่นเดียวกับ Mobike ผมไม่สามารถจ่ายมัดจำด้วยบัตรเดบิตกสิกรได้ (ว้อยยยยยยยย) เลยไม่ได้ใช้อีกเช่นกัน

oBike

มาถึงพระเอกของงาน oBike แอพเช่าจักรยานสัญชาติสิงคโปร์เอง  แอพคิดราคา S$0.5 ต่อ 15 นาที (สรุปแล้วทุกแอพคิดราคาเท่ากัน) ต้องจ่ายมัดจำ S$49 (รีฟันด์ได้) และคิดว่าคงคาดเดากันได้  ตัดด้วยบัตรเดบิตกสิกรไม่ได้อีกแล้วว้อยยยยยยยยยยยยยยยย

แต่!

oBike รองรับการจ่ายเงินผ่าน PayPal จ้า  และบัตรเดบิตใบเดียวกันที่ตัดไม่ได้เนี่ย  ก็ผูกเอาไว้กับ PayPal และสามารถจ่ายได้ปกติ! แต่คาดว่าตอนรีฟันด์  มันคงจะคืนเงินเข้า PayPal ไม่ได้กลับเข้าบัตรโดยตรง (ต้องลอง)

แอพนี้นอกจากรองรับการล็อกอินด้วยเบอร์โทรศัพท์แล้ว  ยังรองรับการล็อกอินด้วยเฟซบุ๊กด้วย!! (นี่เป็นข้อดีหนึ่งของแอพจากนอกจีนเลย  คือมันจะรองรับบริการระดับสากลมากกว่าแอพจีน)

วิธีใช้งาน oBike

oBike จะไม่ได้มีหน้าร้านสำหรับเช่าจักรยานเหมือนร้านเช่าจักรยานแบบเดิมๆ (ให้นึกถึงร้านเช่าจักรยานสวนรถไฟนะ) แต่จะเอาจักรยานของบริษัทไปวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ ผู้ใช้สามารถปลดล็อคแล้วปั่นไปได้เลย  เมื่อถึงที่ก็ล็อคจักรยานอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี  ดังนั้นแล้วเราก็จะเจอจักรยานของ oBike จอดอยู่แทบจะทุกที่  โดยเฉพาะตามป้ายรถเมล์และสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ  รวมไปถึงริมถนนด้วย

เท่าที่เห็นจักรยานของ oBike จะมีอยู่สองสามแบบ  บางคันก็ปั่นแข็งๆ บางคันก็ปั่นนุ่มๆ มีตะกร้าบ้านไม่มีตะกร้าบ้าง  และเจอรถที่ขาตั้งพังค่อนข้างหลายคัน (โดยเฉพาะที่ขาตั้งพับเก็บไม่ได้) ตรงนี้ถ้าเรารายงานไปยัง oBike เราจะได้ Credit หรือ “คะแนนความดี” ด้วย (ไว้ทำอะไร  เดี๋ยวบอกข้างล่าง)

วิธีใช้งานก็ง่ายมาก  หยิบมือถือขึ้นมา  โหลดแอพ oBike สมัครสมาชิกและจ่ายมัดจำให้เรียบร้อย  เราจะได้เครดิต (อันนี้เป็นเงินใช้บริการ  คนละอันกับคะแนนความดี) มาทั้งสิ้น S$3 แต่ช่วงที่ผมมานี่ใช้ฟรีถึง 1 ตุลาคม ฮูเร่!

ผ่านขั้นตอนข้างบนเรียบร้อยแล้ว  ก็เปิดบลูทูธให้เรียบร้อย  กดปุ่ม Unlock แล้วสแกน QR Code บนตัวจักรยาน แอพจะเชื่อมต่อ Bluetooth กับตัวจักรยานสักพัก  แล้วมันจะปลดล็อคล้อให้อัตโนมัติ (เสียง “ตี๊ด”)

จากนั้นก็ปั่นจักรยานไปได้เลย (ถ้าเบาะสูงไปหรือต่ำไป  ก็ปรับได้ด้วย) ระหว่างนี้ก็เปิดบลูทูธทิ้งไว้ด้วยนะครับ

เมื่อปั่นถึงที่หมายแล้ว  ให้แน่ใจว่ามือถือยังเปิดบลูทูธอยู่  แล้วให้เราทำการเลื่อนล็อคเพื่อล็อคจักรยานได้แล้ว  เมื่อเสียง “ตี๊ด” ดังขึ้น  ก็เป็นอันเรียบร้อย  สักพักบนตัวแอพก็จะสรุปค่าใช้จ่ายแล้วตัดเงินออกจากแอพให้อัตโนมัติ

ระบบ Credit คะแนนความดี  สำหรับแก้ปัญหาจากพฤติกรรมผู้ใช้

ถ้าจำกันได้  ก่อนหน้านี้มีผู้ให้บริการเช่าจักรยานไร้สถานีเจ้าหนึ่งมาเปิดให้บริการไทย (น่าจะเป็น oBike นี่แหละ) แต่พอเป็นข่าวได้แป๊บเดียวก็โดน กทม สอยร่วงเนื่องด้วยขัดต่อกฎหมาย  ที่ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสะอาดทางเท่า  หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ — ซึ่งไม่มีผลกับผู้ค้าแผงลอยต่างๆ ว้อยยยยยยยยยยยยยยยยยยย

ตัวระบบของ oBike เองจะมีระบบที่ป้องกันพฤติกรรมแย่ๆ แบบนี้ด้วย  ที่จะตัดแต้มเมื่อผู้ใช้ทำผิดกฎต่างๆ เช่นจอดรถในที่ที่ไม่ควรจอด  หรือใช้งานผิดกฎจราจร  ซึ่งเมื่อผู้ใช้สมัครใช้บริการ  แอพจะให้คะแนนเรามาก่อน 100 คะแนน  และจะตัดแต้มลงตามความผิดต่างๆ ดังตารางต่อไปนี้

มีเสียแต้มก็มีได้แต้ม  โดยถ้าผู้ใช้ปฏิบัติตัวดี  เคารพกฎจราจร  จอดในที่ที่ควรจอด  รายงานพฤติกรรมแย่ๆ หรือรายงานรถพัง  ก็จะได้แต้มความดีเพิ่มเข้ามาตามนี้

เมื่อผู้ใช้มีแต้มความดีต่ำกว่า 80 แต้ม  จะเริ่มถูกคิดค่าบริการแพงขึ้นที่ S$5 ต่อ 15 นาที  และถ้ายังไม่ปรับปรุงตัวจนแต้มเหลือต่ำกว่า 60 แต้ม  ก็จะถูกคิดค่าบริการด้วยราคามหาโหดนั่นคือ S$50 ต่อ 15 นาที  ซึ่งเอาเข้าจริงคงเป็นการสั่งห้ามใช้แบบกลายๆ ไปนั่นเอง

ในทางกลับกันถ้าผู้ใช้มีความประพฤติดี  และเก็บแต้มได้มากกว่า 180 แต้มขึ้นไป  ก็จะได้ส่วนลดหรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติมจากทาง oBike ด้วย (ผมเพิ่งใช้  คะแนนยังไม่ถึง  บอกไม่ได้ว่าได้อะไร ฮ่าๆ)

สิงคโปร์กับจักรยาน

การปั่นจักรยานไปไหนมาไหนในประเทศกรุงเทพ  หลายคนอาจจะส่ายหน้าเนื่องด้วยอากาศที่ร้อนมหาโหด  ร้อนระดับผิวไหม้  ร้อนระดับเผาควายตายกลางถนนได้  แต่ในประเทศสิงคโปร์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าไทย  ซึ่งตามทฤษฎีแล้วควรจะร้อนกว่าไทย  แต่กลับมีอากาศที่สบายเหมาะแก่การปั่นจักรยานมากกว่า

จริงๆ สิงคโปร์มีหลายปัจจัยมากที่ทำให้เหมาะกับการปั่นจักรยาน  เริ่มต้นด้วยการที่สิงคโปร์เอาสายไปลงดิน (อย่างน้อยก็เขตเมือง) ทำให้สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดทิ้งเมื่อมันไปชนสายไฟอย่างในกรุงเทพ  การจราจรในสิงคโปร์ก็ค่อนข้างลื่นไหล  ทำให้รถไม่ต้องจอดแช่นานและพ่นความร้อนออกมากองกัน  อีกทั้งผู้ใช้รถนั้นเคารพกฎจราจร  ทำให้ไม่ต้องกลัวจะโดนรถเสยระหว่างปั่นจักรยานด้วย

และที่สำคัญที่สุดคือทางเท้าของสิงคโปร์นั้นกว้างและสามารถงานได้จริง  ไม่มีแผงลอยมาขวางจนต้องลงไปปั่นหรือเดินกันบนถนน (และต่อให้ลงไปเดินจริงๆ โอกาสโดนรถเสยก็ยังน้อยกว่าไทย) ดังนั้นการใช้จักรยาน (รวมถึงสกู๊ตเตอร์, สเกตบอร์ด, โรลเลอร์เบลด, และเส็กเวย์ด้วย) จึงสะดวกและปลอดภัยมากๆ ด้วยเช่นกัน

Posted by jirayu

WordPress Developer ที่พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง วันไหนไม่ทำงานอยู่บ้านว่างๆ ก็นั่งเลี้ยงแมว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *