6 วันในพม่า เที่ยวมัณฑะเลย์ – พุกาม ตอนที่ 1
ที่ทำงานของผมนั้นจะมีการปรับวันหยุดใหม่ทุกๆ สิ้นเดือนมกราคา ซึ่งวันหยุดจากปี 2018 ของผมเหลืออยู่ 5 วัน เลยจำเป็นต้องใช้ให้หมด สรุปแล้วเลยลางานยาวตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ไปยันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (ใช้วันหยุด 2019 อีกวันหนึ่ง) โดยในตอนแรกก็นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรกับวันหยุดดี คืนวันที่ 25 มกราคม เลยลองกดเว็บ Skyscanner เล่นไปเรื่อยแล้วพบว่า เห้ย ตั๋วไปกลับมัณฑะเลย์รวมๆ แล้วห้าพันเศษๆ เองว่ะ (บางกอกแอร์เวย์ด้วยนะ) เลยตกลงว่า โอเค ไปพม่าดีกว่า
ด้วยความที่ผมเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากเกี่ยวกับพม่า และอยากไปเที่ยวแบบสบายๆ เลยจัดแพลนหลวมๆ ประมาณนี้
- วันจันทร์บินไปมัณฑะเลย์ เดินเล่นเปล่าๆ วันนึง แล้วนอน
- วันอังคารเที่ยวมัณฑะเลย์และเมืองรอง (ได้ไปสกาย มิงกุน อังวะ และจบที่สะพานไม้อูเบ็ง) แล้วนอน
- วันพุธเดินทางไปพุกาม ถึงแล้วก็เดินเล่นเปล่าๆ วันนึง แล้วนอน
- วันพฤหัสฯ เที่ยวพุกาม แล้วนอน
- วันศุกร์เดินทางกลับมัณฑะเลย์ เดินห้างพม่า แล้วนอน
- วันเสาร์บินกลับกรุงเทพ
ส่วนที่พักทั้งหมดจองผ่าน Booking.com เป็นโรงแรมห้องเดี่ยวทั้งหมด ตกที่ประมาณคืนละ 300-400 บาทเท่านั้น (ราคาแพงกว่าโฮสเทลที่นอนห้องรวมอยู่ไม่กี่บาท แต่ได้เป็นห้องแยกและได้ห้องน้ำส่วนตัว ถึงมันจะห้องเล็กหน่อยแต่ถือว่าคุ้ม)
วันที่หนึ่ง – ไปมัณฑะเลย์
เที่ยวบินที่ไปคือ PG709 เครื่องออกเวลา 12:15 เป็นครั้งแรกที่ได้นั่ง Shuttle ไปขึ้นเครื่อง
แอบเสียดายเหมือนกันที่ขาไปไม่ได้แวะเลานจ์บางกอกแอร์เวย์เพื่อไปกินข้าวต้มมัดในตำนาน (บินกับบางกอกแอร์เวย์มาสองสามครั้ง ยังไม่เคยได้เข้าเลานจ์ในสุวรรณภูมิเลย)
ลาก่อนฝุ่นไทย สวัสดีฝุ่นพม่า
สำหรับการแลกเงินนั้น ให้แลกเงินไทยเป็นดอลลาร์สหรัฐให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นค่อยเอาดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินจ๊าดในพม่าอีกที จะได้เรตที่ดีกว่าเอาเงินไทยแลกเป็นเงินจ๊าดโดยตรง ทั้งนี้ทางที่ดีผมแนะนำว่าให้พกเงินทั้งเงินจ๊าดและเงินดอลลาร์ไว้ทั้งคู่จะดีที่สุด เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ (โดยเฉพาะแท็กซี่นำเที่ยวเนี่ย) มักจะบอกราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ และในหลายๆ ครั้งถ้ายืนยันจะจ่ายด้วยจ๊าด จะกลายเป็นแพงกว่าเดิม
ผมแลกเงินไทยไป $250 หรือเกือบๆ 8,000 บาท ซึ่ง $250 นี้แลกเงินจ๊าดได้ประมาณ 370,000 กับเศษอีกนิดหน่อย โดยอัตราแลกเปลี่ยน บาท > จ๊าด จะอยู่ประมาณ 48-49 บาท ดังนั้นสามารถตีกลมๆ ได้ว่า 5,000 จ๊าด จะประมาณ 100 บาท
เช่นตอนที่ผมโดนพาไปนั่งเรือที่พุกาม เขาจะคิดราคาที่ $15 ซึ่งจะเท่ากับประมาณ 22,800 จ๊าด แต่ถ้าจะจ่ายเป็นจ๊าดเขาจะคิดที่ 25,000 จ๊าด (ต่างกันประมาณ 50 บาท)
พอมาถึงที่สนามบินมัณฑะเลย์แล้วเราจะต้องต่อรถไปที่ตัวเมืองอีกที เราจะมีตัวเลือกหลักๆ 2 อย่างคือ
- รถตู้/รถมินิบัส ค่าตั๋วจะถูกหน่อย (ประมาณ 4000 จ๊าด) แต่จะออกเป็นรอบ ทุกชั่วโมง
- แท็กซี่ส่วนตัว ราคา 12,000 จ๊าด จ่ายปุ๊บออกทันที
ตอนแรกที่ผมอ่านรีวิวมาคือถ้านั่งรถตู้หรือรถมินิบัส รถจะขับไปส่งถึงที่พักเลย แต่พอซื้อตั๋วเสร็จแล้วมาถามคนขับ พบว่ารถจะไปจอดถึงแค่สถานีรถไฟมัณฑะเลย์เท่านั้น (จะวนส่งให้ก็ต่อเมื่อโรงแรมอยู่ก่อนถึงสถานีรถไฟ) ซึ่งโรงแรมที่ผมพักจะอยู่ไกลออกไปอีกหน่อย รถจะไม่ไปส่งให้ และต้องต่อรถเอาเอง สุดท้ายด้วยความขี้เกียจเลยยอมทิ้ง 4,000 จ๊าดแล้วเรียกแท็กซี่ไปดีกว่า
พูดถึงเรื่องรถราแล้ว ที่พม่านั้นตามกฎหมายคือจะใช้รถพวงมาลัยซ้าย และขับชิดขวา แต่ว่าในประเทศมีรถพวงมาลัยซ้ายไม่พอใช้ ทางการเลยอนุโลมให้ใช้รถพวงมาลัยขวาได้ และไปๆ มาๆ กลายเป็นว่ารถส่วนใหญ่จะเป็นพวงมาลัยขวาหมด (ตั้งแต่รถส่วนตัวยันรถแท็กซี่) จะมีพวงมาลัยซ้ายก็คือรถบัสและรถของรัฐเท่านั้น แทบไม่มีรถส่วนตัวเป็นพวงมาลัยซ้ายเลย
ในเรื่องถนนหนทางนั้นแม้ว่าถนนในพม่าจะมีราดยางตลอด แต่คุณภาพก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ผิวไม่ค่อยเรียบ (แต่ก็ไม่ได้เป็นหลุมเป็นบ่อนะ มันแค่ไม่เรียบ) และเส้นจราจรก็ไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่
ที่พักแรกของทริปนี้คือที่ Hotel Iceland ที่นี่เป็นโรงแรมธรรมดานี่แหละ แต่มีห้องอาหารจะอยู่บนดาดฟ้า (เห็นว่าเป็นบาร์ด้วย แต่กลางคืนไม่ได้ขึ้นไปหรอก) ตอนแรกว่าจะไปเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์ก่อนแล้วไปดูอาทิตย์ตกที่มัณฑะเลย์ฮิลล์ แต่พอเช็คอินแล้วเผลอหลับไปแป๊บนึง ดังนั้นเลยต้องพับแผนที่ว่าทิ้งไป เหลือแค่เดินเล่นรอบๆ แทน
มาพูดถึงเรื่องอาหารการกินกันบ้าง เอาจริงๆ วันแรกนี้ผมก็ยังไม่ได้กินอาหารพม่านะ ได้จบที่ซื้อมาม่ามาต้มกินแทน คือแม้ว่าที่นี่จะไม่มี 7-11 แต่ก็จะมีร้านสะดวกซื้อ Coco (หน้าตาคล้ายๆ แฟมิลีมาร์ท) และร้าน Grab & Go ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงให้เราได้ไปซื้อของกินประทังความหิวได้บ้าง
ในมัณฑะเลย์นี้นอกจากร้านอาหารพม่า (ที่มีตั้งแต่ร้านในตึกเป็นที่เป็นทาง ไปยันร้านข้างทาง) ก็ยังพอมีอาหารต่างชาติด้วย ซึ่งในมัณฑะเลย์นี้มีแม้กระทั่ง KFC และ The Pizza Company (อันนี้ได้กินวันศุกร์-เสาร์ ก่อนกลับไทย) และเห็นมีร้านปิ้งย่างยากินิกุที่มีเนื้อวากิว A5 ด้วย (ไม่ได้กิน) ส่วนพวกขนมพม่าก็จะมีขายอยู่ตลอดตามข้างทาง
ข้อควรระวังของคนที่จะมาเที่ยวพม่าคืออาหารพม่าหลายอย่างประกอบด้วยถั่วลิสง ดังนั้นคนแพ้ถั่วลิสงต้องระวังกันสักหน่อย ผมก็แพ้อะไรไปสักอย่างเหมือนกัน กินไปได้สองสามคำแล้วเริ่มคันปาก เลยเลิกกินไป
ย้อนกลับมาที่เรื่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและร้าน Coco นิดนึง คือบะหมี่แบรนด์ไทยอย่างมาม่า ยำยำ และไวไว มีขายครบ ซึ่งมันมีทั้งแบบที่ผลิตจากในไทย (เท่าที่เห็นไวไวจะผลิตในไทย) และที่ผลิตในพม่า (มาม่าและยำยำ) ซึ่งที่นี่เราจะได้เห็นซองรุ่นเก่าที่ไม่ได้เห็นในไทยแล้ว หรือแม้แต่รสแปลกๆ ที่ไม่เห็นในไทย อย่างยำยำ Xcite รสหม่าล่า (มันคือยำยำ ที่ซองเหมือนกับไวไวควิกบ้านเรา)
ที่ผมไม่เห็นคือมาม่ารสหมูสับ แต่พวกรสต้มยำกุ้งนี้มีครบ (มียำยำรสต้มยำกุ้งด้วย ในไทยนี่ผมว่าไม่เห็นมานับสิบปีแล้วมั้ง) ส่วนพวกบะหมี่เกาหลีรสเผ็ดต่างๆ ก็มีให้เลือกกินเช่นกัน
ในด้านเครื่องดื่ม น้ำเปล่ามีขายตั้งแต่ขวดละ 100 จ๊าดไปถึง 300 จ๊าด โค้กขวด 600 มิลลิลิตรขายตามร้านโชห่วยในราคา 600 จ๊าด (ถ้าเป็นในร้านอาหารหรือตามที่ท่องเที่ยว จะเป็น 1,000 จ๊าด) ทั้งนี้รู้สึกว่าแบบขวดจะหาค่อนข้างยาก ส่วนมากขายเป็นกระป๋องมากกว่า
อีกอันนึงที่ผมว่าน่าซื้อติดกระเป๋าไว้สักสามสี่อันคือเนื้อเผ็ดพร้อมทานอันนี้ (เจอในร้าน Coco) ดูจากภาษาแล้วน่าจะนำเข้าจากจีน รสชาติเผ็ดๆ กึ่งโอเค กึ่งแปลก เอาไว้กินประทังความหิวตอนเที่ยวระหว่างวันได้
วันที่สอง – เที่ยวเมืองรอง สะกาย มิงกุน อังวะ และสะพานไม้อูเบ็ง
ตอนเราเช็คอินที่โรงแรม เราสามารถให้โรงแรมช่วยจัดการจองตั๋วไปพุกามให้ได้เลย (ราคา 9,000 จ๊าด หรือประมาณ $6 จะถูกกว่าจองออนไลน์เองอยู่เกือบเท่าตัว) และสามารถให้โรงแรมติดต่อหาแท็กซี่นำเที่ยวได้ โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 55,000 – 60,000 จ๊าด (ประมาณ $35-$40)
สำหรับมื้อเช้ามื้อแรกนี้จะขึ้นมากินบนดาดฟ้าของโรมแรม ซึ่ง Hotel Iceland นี้จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในตึกที่สูงที่สุดในละแวกนั้น สามารถเห็นวิวในมัณฑะเลย์ได้อย่างทั่วถึงจากชั้นดาดฟ้า (ตอนเช้าก็ขึ้นไปกินข้าวไปชมวิวไปได้)
จากที่เคยบอกไปแล้วว่าอาหารพม่าจะมีส่วนประกอบเป็นถั่วลิสงจำนวนมาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น คือให้ลองดูอาหารเช้าของโรงแรมจานนี้
ในจานนี้คือจะมีคล้ายๆ ผัดเส้นก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจะผัดร่วมกับถั่วลิสงป่น (แบบที่เราใส่ก๋วยเตี๋ยวกินกัน) ตัวข้าวผัดนัดมีผัดรวมกับถั่วลิสงแบบเม็ด ผัดข้าวโพดเข้าใจว่าไม่มีถั่ว ส่วนเกี๊ยวทอดจะเป็นไส้ถั่วบด
มานึกๆ อีกที ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันคือถั่วลิสงนิ่มๆ หรือถั่วลูกไก่
จริงๆ นอกจากอาหารแล้ว ขนมพื้นเมืองของพม่าก็มีส่วนประกอบเป็นถั่วลิสงเหมือนกัน เช่นขนมอันนี้ (เรียกว่าอะไรไม่รู้ เนื้อร่วนๆ ย่างไฟ ราดน้ำกะทิ) ก็จะมีถั่วลิสงประกอบอยู่เหมือนกัน (เห็นเหลืองๆ ทีแรกผมนึกว่าเม็ดบัว กินไปจริงๆ มันคือถั่วลิสง)
กลับมาที่เรื่องเที่ยวของเราหน่อย ทริปที่ไปนี้จะเป็นทริปสำเร็จรูปที่แท็กซี่นำเที่ยวจะพาไป นั่นคือไปเมืองรองรอบๆ มัณฑะเลย์ ได้แก่ สะกาย, มิงกุน, และอังวะ จากนั้นจึงย้อนกลับมาดูออาทิตย์ตกที่สะพานไม้อูเบ็ง
อย่างหนึ่งที่อยากแนะนำให้เอาติดไม้ติดมือไปด้วย (นอกจากเนื้อเผ็ดข้างบน) คือพวกกระติกสูญญากาศหรือกระติกเก็บความเย็นต่างๆ ให้เทน้ำเย็นอะไรให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง เพราะระหว่างทางขับรถไปแต่ละที่ค่อนข้างจะไกล และไม่ได้มีร้านขายของตลอดทางแบบในไทย แม้แท็กซี่บางคันจะมีน้ำให้แต่ก็มักจะแช่อยู่ในลังโฟม (บางคันไม่แช่ด้วยซ้ำ) ซึ่งแป้บเดียวมันก็หายเย็น
ที่แรกที่คนขับรถพาไปคือวัดพระมหามุนี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระมหามัยมุนี หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า ที่ว่ากันว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีการย้ายไปประดิษฐานที่นั่นที่นี่อยู่หลายครั้ง ก่อนจะมาจบที่เมืองมัณฑะเลย์
คนพม่าเชื่อว่าพระมหามัยมุนีนั้นมีชีวิต ดังนั้นในทุกๆ วันตอนตีสี่ก็จะมีพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนีด้วย (แต่ผมตื่นไม่ทัน อดดู)
สำหรับคนที่จะเข้าไปถ่ายรูปในวัดพระมหามุนีจะต้องจ่ายค่าทำเนียมด้วย (น่าจะประมาณ 1,000 จ๊าดถ้าจำไม่ผิด)
การเข้าวัดที่นี่ (รวมถึงเจดีย์และโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานต่างๆ) จะต้องถอดทั้งถุงเท้าและรองเท้า และนุ่งผ้ามิดชิดด้วย (เขาจะมีโสร่งให้ในกรณีที่เราใส่ขาสั้น)
นอกจากพระมหามัยมุนีแล้ว ในวัดยังมีส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของต่างๆ อยู่ด้วย ทั้งภาพวาดประวัติความเป็นมาของพระมหามัยมุนี สถานที่จำลองต่างๆ อาวุธโบราณ และของที่แต่ละประเทศถวายให้วัด (มีของไทยด้วย)
ผมใช้เวลาอยู่ในส่วนพิพิธภัณฑ์นานมาก (นานขนาดคนขับบอกว่านานไปโว้ย คนอื่นไม่เห็นใครนานขนาดนี้ 😂) พอออกมาแล้วแท็กซี่เลยรีบขับพาไปที่วัดมหากันดายงค์ต่อ
ที่แท็กซี่รีบพามาเพราะว่าเป็นเวลาที่เหล่าสามเณรเดินแถวออกมาฉันเพลพอดี ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่ที่บรรดานักท่องเที่ยวจะมาถ่ายรูปกัน
หลังเหล่าสามเณรเดินแถวกันหมดแล้ว แท็กซี่ก็พาออกจากเมืองข้ามแม่น้ำอิรวดีไปยังเมืองสะกายต่อ (จริงๆ เมืองนี้สะกดว่า ซะไกง์ แต่คนไทยจะคุ้นกับชื่อ สะกาย กันมากกว่า)
อ้อ ตอนขับออกจากมัณฑะเลย์ข้ามมายังสะกาย จะมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่ด้วย ตรงนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเท่าไหร่ เพราะแท็กซี่จะเป็นคนจ่าย
แม่น้ำอิรวดีเป็นแม่น้ำที่ใหญ่มาก แต่ว่าแม่น้ำนี้ค่อนข้างแห้ง ตื้น และมีเนินทรายโผล่พ้นน้ำอยู่ตลอด (ดูแล้วน่าจะเพราะไปช่วงที่น้ำลดพอดี ช่วงฤดูฝนน้ำน่าจะเยอะกว่านี้) แม่น้ำนี้ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของพม่าที่พาดยาวตั้งแต่ตอนเหนือไปออกทะเลอันดามัน และเป็นเส้นทางการค้าหลักของพม่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ
สะกายเป็นเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยสถานศึกษา (น่าจะมีทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะเหมือนจะเห็นพวกวิทยาลัยสงฆ์อยู่ที่นี่เหมือนกัน) และเป็นที่ที่คนจากมัณฑะเลย์จะมาเล่าเรียนกัน
ระหว่างที่กำลังขึ้นสะกายฮิลล์ก็เจอกับชีพม่า (น่าจะใช่นะ) ที่จะนุ่งผ้าสีชมพู ต่างกับชีไทยที่นุ่งผ้าสีขาว ซึ่งที่พม่านี่มีแม่ชีเยอะมากและสามารถเห็นได้ทั่วไป (ที่สะกายนี่น่าจะเป็นที่เรียนของชีด้วย เลยเห็นเยอะมาก แต่ในมัณฑะเลย์เองก็เห็นอยู่บ่อย)
ว่ากันว่าในพม่านี่แทบทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง จะผ่านการบวชเรียนมาแล้วอย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งของชีวิต
บนสะกายฮิลล์เป็นที่ตั้งของวัดเจดีย์ Soon U Ponya Shin (ไม่แน่ใจว่าอ่านว่าอะไร) ที่บนนี้นอกจากตัววัดแล้วยังเป็นจุดชมวิวที่สามารถเห็นสะกายได้ทั้งเมือง และยังเห็นสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีทั้งสองสะพานคู่กันด้วย (เสียดายว่าวันที่ไปฝุ่นเยอะมาก ภาพเลยมัวมาก)
และในบริเวณวัดใกล้ๆ กันยังมีเจดีย์ของบรรดาทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในพม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ด้วย
อ้อ และในวัดนี้จะต้องจ่ายค่าทำเนียมการเข้าไปถ่ายรูปด้วยเช่นกัน
ข้างบนนี้ก็จะมีของกินขายอยู่บ้าง เช่นพวกขนมขบเคี้ยว น้ำดื่ม และขนมพม่า ที่มีลักษณะเป็นแป้งหนึบๆ (คล้ายๆ พวกตะโก้ หรือขนมชั้น) บางอันก็เป็นพวกข้าวเหนียวหวานๆ และแน่นอนว่ามีถั่วผสม
อย่างหนึ่งที่ทำให้ผมค่อนข้างสะพรึงกับขนมพวกนี้คือแม่ค้าจะใส่น้ำมันลงไปคลุกด้วยเพื่อไม่ให้ขนมมันติดกัน ทำให้เราได้ถุงที่มันแผล่บและขนมที่ชุ่มไปด้วยน้ำมัน (น่าจะเป็นน้ำมันงา) กินกันให้เลี่ยนไปข้าง
เสร็จจากสะกายก็ขับรถลงเขาเพื่อมุ่งหน้าสู่มิงกุน ถนนลงเขานี้เป็นราดปูนซีเมนต์ธรรมดา ขนาดกว้างแค่พอรถวิ่งผ่านคันเดียวแบบพอดีคันจริงๆ น่าหวาดเสียวมาก
ระหว่างทางนี้คนขับก็พาแวะกินข้าว ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นอาหารพม่ามื้อแรกจริงๆ โดยร้านที่ไปกินนี้ (น่าจะเป็นร้านประจำของคนขับ) จะเป็นเส้นหมี่คลุกกับซอสอะไรสักอย่างรสชาติเผ็ดๆ เนื้อร่วนๆ หน่อย มีความเลี่ยนเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วผมว่ากินได้อยู่ แต่ที่อร่อยที่สุดคือซุปอะไรสักอย่างที่เอามาให้กินคู่กัน
อ้อ นอกจากนี้ยังมีเหมือนเป็นเครื่องเคียงหรือของไว้ทานเล่นสักอย่าง เป็นแป้ง (มั้ง) ทอดกับข้าวโพด มีลูกชิ้นปลา และถั่วงอกเหี่ยวๆ ตัวแป้งนี่จะเลี่ยนๆ หน่อย แต่โดยรวมผมว่ามันอร่อยดีนะ (น่าเสียดายว่ากินไปสักพักผมรู้สึกคันปากยิบๆ ขึ้นมา เลยหยุดกิน)
โอเค เรามาถึงมิงกุนกันแล้ว ที่นี่จะเสียค่าเข้าด้วย (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 5,000 จ๊าด) เมื่อจ่ายแล้วจะได้สติ๊กเกอร์มาอันนึง จะสามารถเข้าชมโบราณสถานแถวๆ นั้นได้ทั้งหมด ทั้งตัวเจดีย์จักรพรรดิ ระฆังมิงกุน และเจดีย์ชินพิวเม
จริงๆ ถ้าใครมีเวลามากๆ จะล่องเรือจากมัณฑะเลย์มามิงกุนก็ได้เหมือนกัน ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง
ที่แรกที่แวะคือเจดีย์จักรพรรดิที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าปดุง (หลังจากช่วงสงครามเก้าทัพสักพักหนึ่ง) ตามแผนเดิมนั้นเจดีย์จักรพรรดิมีแผนที่จะสร้างให้เป็นเจดีย์ที่ใหญ่โตที่สุดในดินแดนสุวรรณภูมิ ใหญ่กว่าเจดีย์ทัตบินยูในพุกาม ใหญ่กว่าพระปฐมเจดีย์ในสยาม เมื่อสร้างเสร็จจะมีความสูงรวมราว 150 เมตร (ตอนที่หยุดสร้างนั้นสูงประมาณ 50 เมตร) ซึ่งเจดีย์จักรพรรดินี้ต้องใช้ทั้งเงินทั้งแรงงานจำนวนมหาศาล และอาจจะทำให้ประเทศล้มละลายได้ เลยมีการปล่อยคำทำนายออกมาว่าประเทศจะเทศจะล่มจม (บ้างก็ว่ากษัตริย์จะสิ้นพระชนม์) เมื่อเจดีย์สร้างเสร็จ เพื่อให้ยืดระยะก่อสร้างออกไป จนกระทั่งพระเจ้าปดุงสวรรคตไปก่อน จากนั้นการก่อสร้างเจดีย์จึงหยุดลง
ข้างๆ เจดีย์จักรพรรดิจะมีระฆังมิงกุนที่จัดได้ว่าเป็นระฆังที่ยังใช้งานได้ใบที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้ ซึ่งระฆังใบนี้ก็ถูกสร้างมาเพื่อคู่กับเจดีย์จักรพรรดินั่นแหละ
ยังครับ ความจัดใหญ่ไฟกระพริบของเจดีย์จักรพรรดิยังไม่จบ ที่ด้านหน้าของเจดีย์ (ฝั่งหันเข้าแม่น้ำอิรวดี) จะมีการก่อรูปปั้นสิงโตสองตัวเพื่อเป็นเหมือนสิงโตเฝ้าเจดีย์ไว้ด้วย ซึ่งจริงๆ สิงโตคู่นี้สร้างเสร็จแล้ว แต่พังลงตอนเกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 2016 ไกด์บอกว่าหัวสิงโตหัวหนึ่งหักลงแล้วกลิ้งหายไปในแม่น้ำอิรวดีนี่เอง
ใกล้ๆ กันกับเจดีย์จักรพรรดิจะมีเจดีย์สีขาวอีกองค์หนึ่งคือเจดีย์ชิวพิวเม ที่ได้ฉายาว่าเป็นทัชมาฮาลแห่งลุ่มน้ำอิรวดี เพราะเจดีย์สีขาวแห่งนี้เป็นเจดีย์ที่พระเจ้าบากะยีดอว์สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักต่อพระมหาเทวีชิวพิวเม
ออกจากมิงกุน คนขับรถก็พากลับไปสะพานไม้อูเอ็งเพื่อรออาทิตย์ตก แต่ระหว่างทางกลับก็พาแวะเมืองอังวะก่อน โดยเมืองอังวะนี้เคยเป็นเมืองหลวงของพม่ามาหลายสมัยมาก ก่อนจะจะถูกทิ้งร้างไปจากเหตุแผ่นดินไหว
เมืองอังวะนั้นตั้งอยู่ตรงระหว่างแม่น้ำอิรวดีและแม่น้ำตู มีการขุดคลองล้อมด้านหลัง ทำให้ตัวเมืองมีลักษณะเหมือนเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ การจะเข้าไปในเมืองนั้นเราต้องนั่งเรือข้ามไป
จุดขายของเมืองอังวะอยู่ที่การนั่งรถม้าเที่ยวรอบเมือง แต่ด้วยเวลาที่เรามีไม่มากเพราะต้องรีบไปอูเบ็งก่อนอาทิตย์ตก ทำให้เรามีเวลาอยู่แค่ราวๆ 45นาทีเท่านั้นจึงทำให้ไม่สามารถนั่งรถม้าชมทั่วทั้งเมืองอังวะได้ โชคดีกว่าเจอฝรั่งที่พักอยู่โรงแรมเดียวกันเลยช่วยกันหารค่ารถม้า รู้สึกคุ้มขึ้นมาได้อีกหน่อย
รถม้านี้จะเป็นราคาเหมาจ่าย คือต่อให้เราไม่ได้นั่งเต็มเวลาแต่เขาก็จะไม่ลดให้ และเราต้องจ่ายเงินให้คนเก็บเงินตั้งแต่ก่อนออกรถ ดังนั้นใครคิดจะไปต่อราคาทีหลังก็หมดสิทธิ์
ที่ที่ได้นั่งไปดูที่แรกคือวัดบากะยาซึ่งเป็นวัดที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ที่นี่จะเสียค่าเข้า 10,000 จ๊าด จ่ายแล้วเราจะได้ตั๋วแบบนี้มา ตั๋วใบนี้จะมีอายุ 5 วัน สามารถใช้เข้าชมโบราณสถานสำคัญต่างๆ ในแถบมัณฑะเลย์ได้ (ถ้าใครไปพระราชวังมัณฑะเลย์หรือโบราณสถานอื่นๆ แล้วได้ตั๋วหน้าตาแบบนี้มาแล้ว ก็เอาตั๋วเดิมมาเข้าที่นี่ได้ต่อ)
ตั๋วนี้จำเป็นสำหรับเข้าชมในหลายๆ สถานที่ แต่จะมีแค่บางที่ที่มีการสแตมป์ตั๋ว (แปลว่าเข้าได้แค่ครั้งเดียว) ที่ต้องสแตมป์แน่ๆ คือพระราชวังมัณฑะเลย์กับในอังวะ (วัดบากะยากับพระราชวังอังวะ ปั๊มตราเดียว)
สถานที่ที่จำเป็นต้องใช้ตั๋วใบนี้ก็เช่น
- พระราชวังมัณฑะเลย์
- วัดชเวนันดอว์
- เจดีย์ซานดามุนี
- เจดีย์กุโสดอว์
- วัดบากะยา
- พระราชวังอังวะ
- พิพิธภัณฑ์มัณฑะเลย์
พอออกจากวัดมาเราก็นั่งรถม้าไปดูเจดีย์เก่ารายทางไปเรื่อยๆ ก่อนจะไปจบที่หอคอยเก่า และวนกลับออกมาที่ท่าเรือ
จากนั้นเราก็ออกจากอังวะ มุ่งหน้าไปยังสะพานไม้อูเอ็งที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของเมืองอมรปุระ สะพานไม้นี้ได้ชื่อว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก พาดข้ามทะเลสาบตองตะมานด้วยความยาวทั้งสิ้น 1.2 กิโลเมตร และเป็นหนึ่งในจุดชมอาทิตย์ตกยอดนิยมในพม่า (แน่นอนว่าคนเป็นล้าน)
ได้ภาพก่อนอาทิตย์ตกมานิดหน่อย
จากนั้นก็ให้ภาพมันเล่าเรื่อง
หลังอาทิตย์ตกก็ให้แท็กซี่พากลับโรงแรม และปิดท้ายมื้อเย็นด้วยเบอร์เกอร์เนื้อจากร้านใกล้ๆ โรงแรม ผมพบว่าร้านที่นี่ไม่ได้ให้ซอสมะเขือเทศกันเป็นหลักแบบบ้านเรา แต่จะมีซอสพริกให้แทน (แปลกใจปนดีใจ เพราะผมไม่ชอบซอสมะเขือเทศ) แม้แต่ในตัวเบอร์เกอร์ก็จะราดซอสพริกมาให้แทนที่จะเป็นซอสมะเขือเทศแบบบ้านเรา
และเราก็จบวันที่สองของเราลงในเท่านี้
ต่อในตอนที่ 2
ความตั้งใจจริง คือจะเขียนบล็อกนี่ยาวเฟื้อยทีเดียวจบ แต่เขียนไปเขียนมาแล้วมันยาวไปเป็นกิโลแบบนี้ (ในภาพนี่คือแค่ประมาณครึ่งเดียวนะ)
ดังนั้น ขอยกไปต่อตอนที่สองแล้วกันนะครับ
เยี่ยมเลยครับ จะตามรอยไปเที่ยวย้างนะครับ มีประโยชน์มากจริงๆ ขอบคุณครับ