รีวิว BOOX NOVA เครื่องอ่าน e-book หน้าจอ e-ink

โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนที่ค่อนข้างชอบอ่านหนังสือ แต่กลับขี้เกียจที่จะพกหนังสือไปไหนมาไหน เพราะมันหนัก! (อยู่บ้านก็เอาแต่เล่นกับแมว ไม่ได้อ่านหรอกหนังสือน่ะ) เลยคิดว่า เออ ซื้อเครื่องอ่าน e-book สักเครื่องดีกว่า ซึ่งจริงๆ ก็จ้องเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะที่งานหนังสือครั้งก่อน ร้าน Hytexts (น่าจะร่วมมือกับ Meb) ก็ได้มาเปิดบู้ทขายเครื่องอ่าน e-book ที่งานหนังสือด้วย แต่เสียดายว่าตอนนั้นเครื่องต้องพรีออเดอร์ เลยไม่ได้สั่ง (ใจร้อนครับ อยากได้เลย)

แต่งานหนังสือคราวนี้เขามีเครื่องพร้อมขายแล้ว เลยจัด BOOX NOVA มาเครื่องหนึ่ง สนนราคาที่ 10,490 บาท (ร้านมีโปรผ่อน 0% 4 เดือนกับทางซิติแบงก์, กรุงเทพ, กรุงศรี, และกรุงไทยอยู่นะ ใครไม่ทันงานหนังสือหรือไม่สะดวกไป ก็ซื้อผ่านเว็บ Hytexts ได้เหมือนกัน มีโปรผ่อนเหมือนกัน) ซื้อมาใช้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา วันนี้เลยถือโอกาสมารีวิวให้อ่านกัน

อ้อ ถ้ารอได้และไม่ต้องการประกันไทย สามารถสั่งจาก AliExpress ได้ในราคาประมาณ 8,500 – 9,500 บาท

สเป็คเครื่อง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ BOOX NOVA ต่างกับ e-reader ชื่อดังอย่าง Kindle ของ Amazon คือไส้ในมันจริงๆ แล้วเป็นแอนดรอยด์ ทำให้เราสามารถลงแอพของร้านต่างๆ เพิ่มได้ด้วย (Kindle จะอ่านได้เฉพาะหนังสือที่ซื้อจาก Kindle หรือพวกที่ได้มาเป็นไฟล์และไม่ติด DRM เท่านั้น ดังนั้นใครซื้อจากร้านที่ติด DRM อย่าง Meb หรือ Google Play Books ก็หมดสิทธิ์)

  • Android 6.0.1 ปรับแต่งมาสำหรับเครื่องอ่าน e-book โดยเฉพาะ
  • ซีพียู 4 คอร์ 1.6 GHz
  • แรม 2GB (เหลือเฟือสำหรับการอ่านหนังสือ)
  • พื้นที่ 32GB ใส่เม็มไม่ได้
  • แบต 2800 mAh (อ่านมาสามวันแล้วยังไม่หมดเลย)
  • มี Bluetooth และ Wifi ในตัว ต่อเน็ตเปิดเว็บได้ แต่ไม่เวิร์กเท่าไหร่
  • จอ e-ink ขนาด 7.8 นิ้ว ความละเอียด 1404×1872 ที่ 300DPI (เท่ากับที่ใช้ปรินท์นิตยสาร) แสดงผลเป็นขาวดำ 16 ระดับ
  • ชาร์จและเชื่อมต่อกับคอมผ่านพอร์ต USB-C (ไม่รองรับ fast charge)
  • ปุ่มด้านล่างเป็นปุ่ม Back ไม่ใช่ปุ่ม Home

ถ้าเทียบแค่สเป็คต่อราคา แถมเป็นขาวดำอีกต่างหาก ดูยังไงก็คงไม่คุ้ม และแท็บเล็ตปกติอาจจะคุ้มค่ากว่า แต่เอาจริงๆ แล้ว e-reader แบบนี้มีข้อได้เปรียบแท็บเล็ตธรรมดาอยู่หลายข้อที่ทำให้หลายคนรู้สึกว่ามันคุ้มค่าเงินที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะเรื่องหน้าจอ (เดี๋ยวลองเลื่อนไปดูข้างล่างครับ)

แกะกล่อง

กล่อง BOOX NOVA นี่ถือว่าดูดีมาก ดูแพง (ว่าไปมันก็แพงจริงๆ) และแถมเคสมาให้ด้วยอีกชิ้นนึง ซึ่งดูแล้วเคสน่าจะไว้ใช้กับ BOOX NOVA PRO ได้ด้วย เพราะมีช่องเสียบปากกา

ตัวกล่องเป็นกระดาษแข็งเคลือบด้าน ดึงออกแล้วจะเจอกล่องจริงที่เป็นกระดาษแข็งเคลือบด้านเหมือนกันอีกชั้นหนึ่ง ข้างในกล่องมีแค่ตัวเครื่อง สายชาร์จ (ไม่มีหัวชาร์จมาให้นะ มีแต่สาย USB-C) และคู่มือภาษาอังกฤษ/จีน (ภาษาไทยทางร้านมีแจกแยกให้) ตัวเครื่องก็ห่อพลาสติกไว้อีกชั้นหนึ่ง

ซอฟต์แวร์ภายในเครื่อง

ทางร้านบอกว่าเปิดเครื่องมาให้ทำการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถเปิดใช้งาน Google Play ได้ ทั้งนี้การเปิด Google Play จะมีขั้นตอนเพิ่มเติมนิดหน่อย อ่านตามจากคู่มือได้เลย

ตัวเครื่องมันเองนั้นมาพร้อมกับโปรแกรมอ่าน e-book ในตัวอยู่แล้ว (แหงล่ะ) และมาพร้อมกับร้านขาย e-book ของ JD ซึ่งส่วนมากก็เป็น e-book ภาษาจีน ดังนั้น ปิดทิ้งครับ โดยเราจะสามารถปิดร้านของ JD ทิ้งได้ผ่านหน้า Settings (แต่เมนูจะยังอยู่ ลบออกไม่ได้)

โปรแกรมอ่าน e-book ที่มากับเครื่องนั้นสามารถอ่านไฟล์ที่ไม่ติด DRM ได้ค่อนข้างครบครัน ทั้งไฟล์ .mobi .epub หรือ .pdf (และอื่นๆ อีกเพียบ) สามารถแบ่งหนังสือเป็นโฟลเดอร์ได้

ใครที่เคยใช้ e-reader ของ Onyx รุ่นอื่นมาก่อน เช่น BOOX Carta จะจำได้ว่าตัว Neo Reader ที่มากับเครื่องนั้นสามารถอ่าน e-book ที่ติด DRM ของ Adobe Digital Editions ได้ด้วย แต่ Neo Reader ใน BOOX NOVA นี้จะไม่สามารถอ่านไฟล์ที่ติด DRM ของ ADE ได้อีกแล้ว ถ้าต้องการอ่านไฟล์ที่ติด DRM ของ ADE (เช่นไฟล์ที่ซื้อจาก Hytexts เอง หรือที่ดาวน์โหลดมาจาก Google Play Books) จะต้องติดตั้งโปรแกรม Adobe Digital Editions จาก Play Store ก่อน

ในด้านฟีเจอร์การอ่านก็มีค่อนข้างครบ คือมีสารบัญ เลือกหน้าได้ คั่นหน้าได้ พิมพ์โน้ตได้ ปรับขนาดตัวหนังสือ ระยะห่างบรรทัด ระยะห่างย่อหน้า ระยะขอบ ได้หมด สามารถทำ text-reflow ได้อย่างสวยงาม (ทั้งนี้ยังไม่ได้ลองกับ e-book ภาษาไทย แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร) มีพจนานุกรมในตัว

วิธีเปิดเมนูคือกดไปตรงกลางหน้าจอ (ไม่ปัดนะ) ส่วนมุมจอทั้งสี่เราสามารถตั้งใน Settings ของแอพได้ว่าจะให้มันทำอะไรบ้าง

ฟีเจอร์อย่างนึงที่ผมค่อนข้างชอบคือไฟ front light (เป็นไฟให้ความสว่างเฉยๆ ถ้าเข้าใจไม่ผิดไฟ front light จะฉายออกมาจากขอบจอ) ที่สามารถปรับสีโทนอุ่นโทนเย็นแยกจากกันได้ด้วย

ตรงนี้คือดีมากโดยเฉพาะคนชอบเอามานอนอ่านก่อนนอน สามารถปรับแสดงให้สบายตาได้อย่างง่ายดาย

สำหรับใครที่จะเอามาเปิดเว็บ หรือใช้งานแอพต่างๆ (เตือนตรงนี้ว่ามันไม่ได้เรื่องเลย) ก็สามารถกดเปิดโหมด A2 เพื่อลดความละเอียดจอได้ ซึ่งจะช่วยให้จอตอบสนองเร็วขึ้น และ refresh จอน้อยลง

สำหรับร้าน e-book ที่ลงเพิ่มมี 3 ร้านด้วยกันคือ

  1. Meb: E-Reader
  2. Google Play Books
  3. Amazon Kindle

ไล่กันเป็นตัวๆ ไป เริ่มจาก Meb: E-Reader เป็นแอพของร้าน Meb ที่ออกมาสำหรับเครื่องอ่าน e-book ที่ใช้จอ e-ink โดยเฉพาะ ตัดเอ็ฟเฟ็กท์วูบวาบออกไป (ไม่งั้นมันแสดงผลไม่ทัน) ปุ่มกดอะไรใหญ่โตกดถนัด เสียอย่างเดียวว่าซื้อหนังสือผ่านแอพนี้ไม่ได้ ต้องไปกดซื้อในแอพเวอร์ชันเต็มแล้วซิงก์มาอ่านเอาเอง

จริงๆ Hytexts เองก็มีแอพสำหรับ e-reader ด้วย แต่ผมไม่ค่อยได้ซื้อหนังสือจาก Hytexts เท่าไหร่ เว็บเขาช้ามาก

ตัวต่อมาคือ Google Play Books ว่ากันจริงๆ แอพนี้ยังไม่ได้ใช้จริงๆ จังๆ เพราะเคยซื้อไว้แค่เล่มเดียว (คอลเล็คชัน Ender’s Game รวม 5 เล่ม มัดรวมอยู่ในเล่มเดียวเกือบสองพันหน้า) ตัวแอพนี้จริงๆ น่าจะออกแบบมาสำหรับแท็บเล็ตจอปกติ แต่สามารถเอามาอ่านบนจอ e-ink ได้ดีในระดับหนึ่ง เท่าที่ลองดูยังไม่เจอปัญหาแอพงงระหว่างแตะและปัดเปลี่ยนหน้า (เจอใน Kindle) เรื่องหนึ่งที่ควรบอกไว้คือการซูมแบบถ่างจอของมัน จะเป็นการซูมหน้าเข้าไปตรงๆ เหมือนซูมรูป ไม่ใช่การปรับขนาดฟอนต์แบบในแอพอื่น

และตัวสุดท้ายคือ Amazon Kindle แอพที่เจนสนามที่สุดแต่ออกมาพังที่สุด แอพทำงานค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับตัวอื่น และปัญหาที่สุดของมันคือการเปลี่ยนหน้า ที่บางทีกดเปลี่ยนหน้าแบบแตะจอแล้วแอพเข้าใจว่าเป็นการปัด (แล้วมันก็ปัดไปให้แค่ครึ่งหน้า) หรือบางทีกดเปลี่ยนหน้าไปแล้วมันโหลดข้ามหน้าไปก็มี สรุปแล้วผมใช้ Calibre แปลงไฟล์ Kindle ออกไปเป็น ePub แล้วเอาไปอ่านกับตัวอ่านของเครื่องเข้าท่าที่สุด

อ่านบนจอ e-ink เป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ หลายปีก่อนผมเคยซื้อแท็บเล็ตมาตัวหนึ่ง กะจะเอาไว้อ่านหนังสือนี่แหละ แต่พอเอามาใช้จริงแล้วพบว่าไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ เพราะการจ้องจอแบบนั้นไปนานๆ จะทำให้ปวดตาและแสบตา จะเอาไปอ่านขณะอยู่บนรถก็ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะทำให้เมารถ เวียนหัวและคลื่นไส้ แถมแสงจากจอยังรบกวนคนอื่นอีกต่างหาก ซึ่งสุดท้ายแท็บเล็ตตัวนี้เหลือเอาไว้แค่เพื่ออ่านคอมมิคฝรั่งที่เป็นภาพสีเท่านั้น และได้ใช้แค่เฉพาะตอนอยู่บ้าน

แต่สำหรับ BOOX Nova ที่มีหน้าจอ e-ink นั้น ผมตอบสั้นๆ แบบกำปั้นทุบดินเลยคือสุดยอดมาก ความรู้สึกจะต่างจากอ่านบนจอปกติโดยสิ้นเชิง อ่านบนรถได้โดยไม่เวียนหัว แสงจอไม่แสบตา องศาการอ่านกว้างเหมือนกระดาษจริง เม็ดสีบนจอเป็นเม็ดสีจริง ไม่ใช่การผสมแสงแบบจอทั่วไป ดังนั้นเอาไปนั่งอ่านกลางแจ้งได้สบายมาก

ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่งเลยก็คือหน้าจอของ BOOX NOVA นั้นมีความละเอียดสูงถึง 300DPI ระดับเดียวกับที่ใช้พิมพ์หนังสือหรือนิตยสารจริงๆ ทำให้ตัวหนังสือบนจอนั้นคมชัดเหมือนกับอ่านจากกระดาษจริงด้วย

ใครยังนึกไม่ออก สามารถลองไปเดินดูตาม B2S ได้เลย หลายๆ สาขามีเครื่องให้ลอง (เห็นจอเหมือนของ mock แบบนั้น ของจริงนะ) ส่วนถ้าใครไม่สะดวกไป ให้นึกถึงพวกมือถือหรือแท็บเล็ตปลอมที่ตั้งโชว์ตามตู้ ที่มันจะพิมพ์ภาพหน้าจอออกมาแล้วใส่เอาไว้ในตัวเครื่องเปล่า ความรู้สึกมันแบบนั้นเลย เหมือนกำลังอ่านอยู่บนวัสดุจริง (ส่วนตัวว่ามันไม่เหมือนกระดาษหนังสือเสียทีเดียว ออกแนวเหมือนพลาสติกหรือกระดาษเคลือบมากกว่า)

โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าใครชอบอ่านหนังสือ อยากพกไปอ่านขณะอยู่นอกบ้าน แต่ไม่ชอบ e-book เพราะอ่านบนจอแล้วปวดตา หรือขี้เกียจพกหนังสือเพราะมันหนัก อันนี้แนะนำมากๆ ว่าให้ซื้อเครื่องอ่าน e-book ติดตัวไว้เลยสักเครื่องครับ ชีวิตดีแน่นอน

และสุดท้ายคือใครที่จะเอาไปใช้เหมือนเป็นแท็บเล็ตปกติ ลงแอพเปิดเว็บดูวิดีโอ เตือนไว้ก่อนเลยว่าอย่าหาทำครับ ไม่เวิร์กมากๆ

ซื้อ ebook

ว่ากันจริงๆ ราคาปกติของ e-book นั้นก็ไม่ได้ถูกกว่าแบบเล่มสักเท่าไหร่ (บางเล่มที่ e-book แพงกว่าเล่มจริงก็เคยเจอ) ดังนั้นถ้าเน้นคุ้มค่าแนะนำให้ลองเช็คราคาดีๆ ก่อนในหลายๆ ร้าน ทั้งนี้เราก็มีโอกาสเจอหนังสือลดราคาบ่อยกว่าแบบเล่มด้วยเช่นกัน อย่าง Leviathan wakes นี่ราคาเต็ม 300 กว่าบาท ก็ได้มาตอนลดราคาเหลือประมาณร้อยเดียวเท่านั้น

สำหรับร้าน Meb นั้น ถ้าใครถือบัตร The 1 ของเครือเซ็นทรัล หนังสือส่วนมากสามารถไปซื้อเอาจาก The 1 Book แทนได้ โดยเราสามารถล็อกอินด้วยบัญชี Meb ได้เลย และหนังสือที่ซื้อก็จะไปโผล่ใน Meb สามารถใช้แอพของ Meb ดาวน์โหลดหนังสือมาอ่านได้ตามปกติ แต่ The 1 Book จะมีข้อได้เปรียบอยู่นิดหน่อยตรงที่เวลาซื้อเราจะได้แต้ม The 1 ด้วย (ต้องผูกกับบัตร The 1 ก่อน) และสามารถใช้แต้ม The 1 แลกหนังสือมาอ่านก็ได้เช่นกัน ส่วนหนังสือนั้นเท่าที่เห็นหลายคนบอกกันคือ The 1 Book จะมีหนังสือเกือบทั้งหมดของ Meb แต่อาจจะมีบางเล่มที่ไม่ลงหรือลงช้ากว่า แต่ก็ถือได้ว่าเป็นส่วนน้อย

ทั้งนี้การจะซื้อหนังสือจากร้านอื่นนอกเหนือจาก Meb, The 1 Book, Hytexts, และ Kindle อาจจะเสียความสะดวกในการอ่านไปเล็กน้อย เพราะร้านส่วนใหญ่จะขายหนังสือที่ติด Adobe DRM ที่ต้องใช้แอพ Adobe Digital Edition ในการอ่าน โดยแม้ว่าแอพ ADE จะทำงานได้ดีระดับหนึ่งบนจอ e-ink แต่ก็ยังรู้สึกไม่สะดวกเท่ากับแอพที่ออกแบบมาเพื่อจอ e-ink จริงๆ อย่างเช่นตัวอ่านของเครื่อง หรือแอพของ Meb/Hytexts (จริงๆ จะเลือกซื้อเฉพาะเล่มที่เป็น DRM-Free ก็ได้ สามารถดาวน์โหลด EPUB มายัดลงเครื่องได้เลย อย่างรวม Ender’s Game ที่ผมซื้อมาจาก Google Play ก็เป็น DRM-Free)

สำหรับคนที่ซื้อหนังสือจาก Kindle เราสามารถใช้โปรแกรม Calibre และปลั๊กอิน DeDRM ในการถอด DRM ของ Kindle แล้วแปลงเป็น EPUB จากนั้นก็สามารถเอาไปอ่านด้วยแอพของเครื่องได้เลย

ส่วน ebook ที่เป็นไฟล์ PDF นั้นสามารถอ่านได้เช่นกัน แต่ไฟล์ PDF ไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับการ reflow ข้อความ ดังนั้นถ้าเป็นไฟล์ที่หน้าใหญ่มากๆ อาจจะไม่สะดวกในการอ่านสักเท่าไหร่ เพราะต้องคอยซูมเข้าซูมออกและเลื่อนไปมา ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากๆ บนจอ e-ink

Posted by jirayu

WordPress Developer ที่พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง วันไหนไม่ทำงานอยู่บ้านว่างๆ ก็นั่งเลี้ยงแมว

16 Replies to “รีวิว BOOX NOVA เครื่องอ่าน e-book หน้าจอ e-ink”

  1. ศุกรีย์ May 15, 2019 at 8:21 pm

    อยากทราบว่าถ้าอ่านพวก pdf scan อยากให้แสดงผลเต็มจอเป้ะๆนี่ทำได้ไหมครับ เห็นหลายค่ายเวลาเปิดมันจะมีเลขหน้าหรืออะไรมาแสดงผล ทำให้ pdf แสดงผลไม่เต็มจอ 7.8

    Reply

    1. อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ ปกติไม่ได้อ่านสแกน

      แต่คิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับแอพ ถ้าแอพอ่านที่มากับเครื่องมันไม่เต็มจอ ก็โหลดตัวอื่นมาลงแทนได้ครับ

      Reply

  2. Jarin Meerasri June 5, 2019 at 7:10 am

    ไม่เคยใช้ E-Reader แต่กำลังสนใจ
    ทีข้อสงสัยบางเรื่องครับ

    โหมด A2 คืออะไร มีประโยชน์ยังไง
    Text-Reflow คืออะไร มีประโยชน์ยังไง

    ขอบคุณครับ

    Reply

    1. โหมด A2 จะเป็นการลดความละเอียดหน้าจอลงครับ ช่วยให้จอสามารถ Refresh ได้เร็วขึ้น (ลดการกระพริบเวลามีอะไรเคลื่อนไหวอยู่บนจอ) จะเหมาะกับเวลาใช้เปิดเว็บ ส่วน Text-reflow คือการปรับการขึ้นบรรทัดใหม่ให้เวลาย่อหรือขยายขนาดตัวหนังสือครับ

      Reply

    2. A2 จะเห็น pdf แบบสแกนหยาบขึ้น แต่ไม่ถึงกับอ่านไม่ได้ ข้อดีคือ เปลี่ยนหน้าเร็ว
      Text reflow แสดงผลแบบตัดบรรทัดได้ นึกถึงอ่าน ไฟล์ word แล้วขยายฟอน แล้วมันตัดบรรทัดให้ออโต้

      Reply

  3. เครื่องรองรับที่ Android เวอร์ชั่นไหนครับ

    ตนอนี้ kindle ยังมีปัญหารวน กระตุกอยู่อีกมั้ยครับ

    Reply

    1. แอนดรอยด์ 6.0 ครับ ส่วนแอพคินเดิลยังกระตุกเหมือนเดิม อันนี้เพราะตัวแอพไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจอ e-ink ครับ

      ถ้าปกติซื้อแต่หนังสือบนคินเดิล แนะนำว่าซื้อเครื่องอ่านของคินเดิลเลยจะดีกว่า ไม่งั้นต้องมานั่งถอด DRM ครับ (อ่านผ่านแอพมันไม่เข้าท่าอย่างแรง)

      Reply

  4. อยากทราบว่าสามารถโหลดแอพอ่านนิยายจาก Google Play Store เช่น เด็กดี, readAwrite,ficlogtion,ธัญวลัย ฯลฯ พวกนี้ได้หรือเปล่าคะ

    Reply

    1. ได้ครับ แต่ต้องไปเปิด Google Play Services ใน settings ของเครื่องก่อน (ในกล่องมีคู่มือวิธีเปิด Google Play Services)

      Reply

  5. กำลังจะซื้อ boox เพราะอยากได้ปากกาค่า
    แต่หนังสือเป็น kindle ทำยังงัยดีคะ

    Reply

    1. ผมใช้ Calibre แกะ DRM หนังสือที่ซื้อบน Kindle เอาครับ แล้วค่อยโยนใส่เข้าเครื่องเพื่ออ่านบน Reader ของเครื่องแทน

      ส่วนตัวผมใช้แมค มันมีขั้นตอนตั้งค่าเพิ่มเติมถึงจะใช้ได้ ส่วนบน Windows นี่ผมไม่แน่ใจเลยว่ายังใช้ได้อยู่หรือเปล่าครับ

      Reply

  6. ขอสอบถามหน่อยครับ พอดีกำลังดู ebook reader ดีๆสักเครื่อง แต่ไม่เคยใช้มาก่อน
    จะถามว่าการอ่านในเว็บไซต์แย่มากมั้ยครับ พอดีเป็นคนชอบอ่านหนังสือในเว็บใส่ต่างๆแต่ด้วยความที่ตาไม่ค่อยดี ตาล้าง่าย เลยอยากซื้อมาใช้ครับ เพราะเห็นว่ามันถนอมสายตา

    Reply

    1. โดยส่วนตัวว่าเปิดเว็บไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ครับ โดยเฉพาะอ่านเว็บที่มันต้องเลื่อนหน้าเว็บยาวๆ จะค่อนข้างรำคาญเวลามัน refresh หน้าจอครับ

      Reply

      1. กำลังสนใจ boox มากค่ะ โดยเฉพาะรุ่นมีปากกาเพราะไม่ต้องแบกงานต้นฉบับเป็นปึกๆออกภาคสนาม แต่อยากทราบว่ารุ่นที่มีปากกา เราสามารถชอตโน้ตได้ดีไหมคะการพลิกเปลี่ยนหน้าทำได้ดีระดับไหนคะ ขอบพระคุณค่ะ

        Reply

  7. กำลังสนใจ boox มากค่ะ โดยเฉพาะรุ่นมีปากกาเพราะไม่ต้องแบกงานต้นฉบับเป็นปึกๆออกภาคสนาม แต่อยากทราบว่ารุ่นที่มีปากกา เราสามารถชอตโน้ตได้ดีไหมคะการพลิกเปลี่ยนหน้าทำได้ดีระดับไหนคะ ขอบพระคุณค่ะ

    Reply

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *